ระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบ (แก้ไขครั้งที่ 12)

สารบัญ

  1. เจตนารมณ์
  2. นิยาม
  3. การปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  4. การแต่งตั้ง
  5. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
  6. หน้าที่และความรับผิดชอบ
  7. วาระและค่าตอบแทน
  8. การประชุม
  9. การรายงาน
  10. เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ
  11. วันที่ใช้บังคับ

1. เจตนารมณ์

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีความแน่วแน่ที่จะดำรงไว้ซึ่งการจัดการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับจากผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไปอยู่เสมอว่าเป็นกิจการที่มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance)

การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) เป็นส่วนหนึ่งของระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท.สผ. โดยคณะกรรมการตรวจสอบของ ปตท.สผ. เป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของคณะกรรมการ ปตท.สผ. เพื่อให้เกิดความคล่องตัวต่อการจัดการ การให้วิสัยทัศน์และการให้ความเห็นที่ตรงไปตรงมาต่อรายงานทางการเงิน ระบบการควบคุมภายใน และระบบการตรวจสอบภายในของ ปตท.สผ.

2. นิยาม

ในระเบียบนี้

  1. 2.1
    “ปตท.สผ.” หมายความว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน
  2. 2.2
    “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
  3. 2.3

    “กรรมการอิสระ” หมายความว่า กรรมการอิสระของ ปตท.สผ. ตามการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจริยธรรมธุรกิจของกลุ่ม ปตท.สผ.

    ทั้งนี้ กรรมการอิสระจะต้องตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติความเป็นอิสระของตนเองอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

  4. 2.4
    “ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  5. 2.5
    “ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง ข้อพึงปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติ คำอธิบาย หรือหนังสือเวียนของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ หรือของตลาดหลักทรัพย์ที่ ปตท.สผ. ต้องปฏิบัติตาม

3. การปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ให้นำข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการตรวจสอบที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่ใช้ระเบียบนี้ หรือที่จะได้มีการปรับปรุงใหม่มาใช้บังคับกับระเบียบนี้ด้วย

4. การแต่งตั้ง

คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ประกอบด้วย กรรมการ ปตท.สผ. อย่างน้อย 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน และกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้

คณะกรรมการจะแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการตรวจสอบ และให้คณะกรรมการตรวจสอบแต่งตั้งหัวหน้าหน่วยงานเกี่ยวกับการตรวจสอบ หรือเกี่ยวกับเลขานุการบริษัท เป็นเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการรายงานการแต่งตั้งหรือการเปลี่ยนแปลงการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบต่อกระทรวงเจ้าสังกัดของบริษัทใหญ่ และกระทรวงการคลังทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการแต่งตั้งหรือการเปลี่ยนแปลงการแต่งตั้ง

5. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม

5.1 คุณสมบัติ

กรรมการตรวจสอบต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. เป็นกรรมการ ปตท.สผ. และไม่ใช่ประธานกรรมการ ปตท.สผ. หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  2. เป็นกรรมการอิสระ
  3. เป็นผู้สามารถอุทิศเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ และแสดงความเห็นและรายงานผลการดำเนินงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความเป็นอิสระและเที่ยงธรรม
  4. เป็นผู้มีความเข้าใจในภารกิจของ ปตท.สผ.
  5. เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในฐานะกรรมการตรวจสอบ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยหนึ่งคน ต้องมีความรู้ ความเข้าใจและมีประสบการณ์ด้านการเงินการบัญชี สามารถสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้ โดยบริษัทต้องระบุไว้ในแบบ 56-1 One Report ว่า กรรมการตรวจสอบรายใดเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว และกรรมการตรวจสอบรายนั้นต้องระบุคุณสมบัติดังกล่าวไว้ในหนังสือรับรองประวัติของกรรมการตรวจสอบที่ต้องส่งต่อตลาดหลักทรัพย์ด้วย

5.2 ลักษณะต้องห้าม

กรรมการตรวจสอบต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

  1. ไม่เป็นข้าราชการประจำที่ดำรงตำแหน่งในกระทรวงเจ้าสังกัดของบริษัทใหญ่
  2. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของ ปตท.สผ. บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้น รายใหญ่ หรือผู้มีอานาจควบคุมของ ปตท.สผ.
  3. ไม่เป็นกรรมการของบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทย่อยลำดับเดียวกันเฉพาะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน
  4. ไม่เป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ของคณะกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือผู้ตรวจสอบภายในของ ปตท.สผ.

6. หน้าที่และความรับผิดชอบ

6.1 คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ดังนี้

  1. จัดทำระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบให้สอดคล้องกับขอบเขตความรับผิดชอบในการดำเนินงานของ ปตท.สผ. โดยต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ และมีการสอบทานความเหมาะสมของระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
  2. สอบทานให้ ปตท.สผ. มีรายงานทางการเงินอย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือ และเพียงพอ โดยมีผู้สอบบัญชีเข้าร่วมประชุมด้วยทุกไตรมาส
  3. สอบทานให้ ปตท.สผ. ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน รวมทั้งข้อกำหนดอื่นของ ปตท.สผ.
  4. พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจจะมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ารายการดังกล่าวสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท รวมทั้งพิจารณารายการที่มีโอกาสเกิดทุจริตที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของ ปตท.สผ.
  5. สอบทานประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการควบคุมภายใน กระบวนการบริหารความเสี่ยงและกระบวนการกำกับดูแลที่ดี
  6. กำกับดูแลระบบงานตรวจสอบภายในของ ปตท.สผ. ให้เหมาะสมและมีประสิทธิผล รวมทั้งให้มีความเป็นอิสระเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานในหน้าที่
  7. ประเมินผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานตรวจสอบภายใน รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในและศักยภาพของผู้ตรวจสอบภายในของหน่วยงานตรวจสอบภายในอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งต่อคณะกรรมการ
  8. พิจารณา คัดเลือก เสนอแต่งตั้ง ถอดถอนผู้สอบบัญชีของ ปตท.สผ. และพิจารณาเสนอค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชีต่อคณะกรรมการ และเปิดเผยค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชีในรายงานประจำปีของ ปตท.สผ. รวมทั้งประชุมหารือร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นชอบ โดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ในเรื่องที่เกี่ยวกับผลการตรวจสอบและเรื่องอื่นๆ และอาจเสนอแนะให้สอบทานหรือตรวจสอบรายการใดที่เห็นว่าจำเป็น
  9. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง และประเมินผลงานของหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน โดยให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาด้วย รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Investigation Committee) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในของ ปตท.สผ. ในกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในของ ปตท.สผ. เป็นผู้ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการประพฤติผิดตามกฎหมายหรือระเบียบของกลุ่ม ปตท.สผ. ซึ่งรวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมทางธุรกิจ
  10. อนุมัติแผนงานการตรวจสอบภายในตามความเสี่ยง (Risk based audit plan) ของหน่วยงานตรวจสอบภายใน และพิจารณาสั่งการให้ผู้ตรวจสอบภายในปฏิบัติงานอื่นได้ตามควรแก่กรณี ทั้งนี้ ให้พิจารณาถึงประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับและผลกระทบต่อความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมในการปฏิบัติงานตรวจสอบ
  11. พิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนองบประมาณ โครงสร้างและอัตรากำลังของหน่วยงานตรวจสอบภายใน เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำเสนอต่อคณะกรรมการ
  12. อนุมัติกฎบัตรหน่วยงานตรวจสอบภายใน
  13. อนุมัติหนังสือรับรองความเป็นอิสระของหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน กรณีที่หัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายในต้องลงปฏิบัติงานตรวจสอบนั้นๆเอง
  14. พิจารณาให้ความเห็นชอบผลการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบประจำปี และผลการตรวจสอบจากการร้องขอให้ตรวจสอบในกรณีพิเศษต่างๆ (Special audit request)
  15. ประธานกรรมการตรวจสอบ หรือกรรมการตรวจสอบต้องเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท.สผ. เพื่อชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวกับคณะกรรมการตรวจสอบ หรือการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีด้วย
  16. สอบทานความถูกต้องของเอกสารอ้างอิงและแบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันของกิจการตามโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต
  17. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ
  18. รายงานผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในของคณะกรรมการตรวจสอบต่อคณะกรรมการอย่างน้อยไตรมาสละหนึ่งครั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดในแต่ละไตรมาส ยกเว้นรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาสที่สี่ ให้จัดทำเป็นรายงานผลการดำเนินงานประจำปีพร้อมทั้งส่งรายงานดังกล่าวให้กระทรวงเจ้าสังกัดของบริษัทใหญ่ และกระทรวงการคลังเพื่อทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีการเงินของบริษัท
    โดยเปิดเผยรายงานผลการดำเนินงานประจำปีไว้ในรายงานประจำปีของบริษัทด้วย ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
    1. (ก)
      ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของ ปตท.สผ.
    2. (ข)
      ความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริต ความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของ ปตท.สผ. รวมถึงการควบคุมภายในด้านการเงิน
    3. (ค)
      ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน รวมทั้งข้อกำหนดอื่นของ ปตท.สผ.
    4. (ง)
      ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
    5. (จ)
      ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
    6. (ฉ)
      จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบแต่ละท่าน
    7. (ช)
      ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบนี้
    8. (ซ)
      รายการอื่นที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบ ภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ

6.2 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 6.1 คณะกรรมการตรวจสอบอาจหาความเห็นที่เป็นอิสระจากที่ปรึกษาทางวิชาชีพอื่นใด เมื่อเห็นว่าจำเป็นได้ รวมทั้งให้กรรมการตรวจสอบได้รับการอบรมและเสริมสร้างความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบได้ด้วย โดย ปตท.สผ. เป็นผู้รับค่าใช้จ่าย

6.3 คณะกรรมการตรวจสอบมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 6.1 และข้อ 6.2 ต่อคณะกรรมการโดยตรง และคณะกรรมการมีความรับผิดชอบในการดำเนินการทุกประการของ ปตท.สผ. ต่อบุคคลภายนอก

หากมีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ปตท.สผ. ต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ตามแบบแจ้งรายชื่อและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบภายในสามวันทำการ

7. วาระและค่าตอบแทน

กรรมการตรวจสอบมีวาระอยู่ในตำแหน่ง เท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริษัท

เมื่อมีกรรมการตรวจสอบพ้นจากตำแหน่ง หรือมีเหตุใดที่กรรมการตรวจสอบไม่สามารถอยู่ได้จนครบวาระ คณะกรรมการจะต้องแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบรายใหม่แทนให้ครบถ้วนอย่างช้าภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่จำนวนสมาชิกไม่ครบถ้วน

เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคสอง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบขึ้นใหม่ ให้กรรมการตรวจสอบซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่ง เพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการตรวจสอบซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

กรรมการตรวจสอบซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการตรวจสอบพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 5

คณะกรรมการตรวจสอบจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และ ปตท.สผ. ต้องเปิดเผยค่าตอบแทนไว้ในรายงานประจำปีของ ปตท.สผ. ด้วย

8. การประชุม

คณะกรรมการตรวจสอบต้องประชุมอย่างน้อยไตรมาสละหนึ่งครั้ง

คณะกรรมการตรวจสอบควรมีการประชุมร่วมกับผู้บริหารของ ปตท.สผ. ผู้ตรวจสอบภายใน และผู้ตรวจสอบภายนอก อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการตรวจสอบทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการตรวจสอบไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการตรวจสอบที่มาประชุมเลือกกรรมการตรวจสอบคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการตรวจสอบคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ทั้งนี้ เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

กรรมการตรวจสอบผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด หรือมีส่วนได้เสียใดๆ ในเรื่องที่พิจารณา จะต้องแจ้งให้ที่ประชุมทราบและงดให้ความเห็น งดออกเสียง และออกจากห้องประชุม ยกเว้นที่ประชุมโดยไม่รวมกรรมการที่มีส่วนได้เสีย มีมติเอกฉันท์ให้กรรมการผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลในการประชุมเพื่อความรอบคอบในการพิจารณาตัดสินใจ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ

คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจเชิญฝ่ายจัดการ หรือผู้สอบบัญชี หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมหรือขอให้ชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้

9. การรายงาน

9.1 คณะกรรมการตรวจสอบต้องรายงานผลการประชุม หรือรายงานอื่นใดที่เห็นว่าคณะกรรมการควรทราบต่อคณะกรรมการเป็นประจำ

9.2 ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบพบหรือมีข้อสงสัยว่ามีรายการ หรือการกระทำดังต่อไปนี้ ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงิน หรือผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ให้คณะกรรมการตรวจสอบรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นสมควร

  1. รายการที่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  2. การทุจริต หรือมีสิ่งผิดปกติ หรือมีความบกพร่องที่สำคัญในระบบการควบคุมภายใน
  3. การฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของ ปตท.สผ.

ให้คณะกรรมการรายงานการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบต่อกระทรวงเจ้าสังกัดของบริษัทใหญ่ และกระทรวงการคลังอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

เมื่อคณะกรรมการ หรือผู้บริหาร ปตท.สผ. ไม่ดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไขภายในเวลาตามข้อ 9.2 ให้กรรมการตรวจสอบคนใดคนหนึ่งรายงานว่ามีรายการหรือการกระทำตามข้อ 9.2 ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

10. เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ

เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบมีภารกิจ ดังต่อไปนี้

  1. ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการของคณะกรรมการตรวจสอบ และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้กิจการของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
  2. พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ หรือดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบให้การปฏิบัติกิจการของคณะกรรมการตรวจสอบมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคณะกรรมการตรวจสอบอย่างเหมาะสม
  3. กำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจสอบ การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และมติคณะกรรมการตรวจสอบ
  4. ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเสนอความเห็นในเรื่องที่มีการเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ รวมทั้งการสอบถามหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการสั่งการ หรือการพิจารณาของประธานกรรมการตรวจสอบ หรือคณะกรรมการตรวจสอบ
  5. ดำเนินการเกี่ยวกับการสั่งการ การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ จัดทำมติ และรายงานการประชุมอย่างครบถ้วนและถูกต้อง รวมทั้งแจ้งคำสั่งหรือมติดังกล่าวให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ตลอดจนการตอบข้อหารือ คำสั่ง หรือมติคณะกรรมการตรวจสอบ
  6. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง หรือปฏิบัติงานอื่นใดที่ได้รับมอบหมาย

11. วันที่ใช้บังคับ

ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

รายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบประจำปี 2566

ปตท.สผ. มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้การดำเนินงานและการขยายธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยมุ่งเน้นการเป็นองค์กรที่โปร่งใส เป็นธรรม เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดำเนินงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและจัดให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายใน เพื่อกำกับดูแล สอบทานกระบวนการดำเนินงานต่าง ๆ และผลักดันให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดำเนินงานตามนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management, and Compliance หรือ GRC) ที่เหมาะสม รวมถึงกำกับดูแลติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กร เพื่อให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายที่กำหนดและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน และเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคตตามทิศทางการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ พร้อมกับการสร้างคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วยกรรมการ ปตท.สผ. ที่เป็นกรรมการอิสระ 4 คน ได้แก่ นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ นางอังครัตน์ เพรียบจริยวัฒน์ นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส และนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เป็นกรรมการตรวจสอบ ซึ่งกรรมการตรวจสอบทุกคนเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการสอบทานความถูกต้องของงบการเงินได้

ในปี 2566 คณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท และตามระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งสอดคล้องตามแนวปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการตรวจสอบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในปีนี้มีการประชุมรวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง จำนวน 1 ครั้ง โดยกรรมการตรวจสอบทุกคนเข้าร่วมประชุมครบทุกครั้ง ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบเดือนธันวาคม 2566 มีการหารือร่วมกันกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ตรวจสอบภายใน และผู้สอบบัญชีในคราวเดียวกันด้วย

สรุปสาระสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบ ในปี 2566 ได้ดังนี้

1) การสอบทานรายงานทางการเงิน

คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินประจำปีของ ปตท.สผ. โดยได้ประชุมร่วมกับผู้สอบบัญชีจากบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) เป็นการเฉพาะ โดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วม เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละงวดบัญชี ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ การแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี และหารือในเรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อรายงานทางการเงิน รวมทั้งมาตรฐานการบัญชีที่ปรับปรุงใหม่ และได้ประชุมร่วมกับฝ่ายจัดการเพื่อพิจารณาสอบทานงบการเงิน ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ารายงานทางการเงินของ ปตท.สผ. มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ มีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญครบถ้วน เพียงพอ ทันเวลา และได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎหมาย มาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้ให้ความเห็นต่อการจัดทำรายงานการวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ (MD&A) โดยให้ครอบคลุมการวิเคราะห์ปัจจัยรอบด้านที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานและงบการเงินของบริษัทฯ

2) การสอบทานระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง

คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายในผ่านการรายงานผลการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบภายใน รวมถึงสอบทานและให้ความเห็นชอบผลการประเมินระบบการควบคุมภายในขององค์กร และการประเมินตามแบบการประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งพบว่าระบบการควบคุมภายในของ ปตท.สผ. มีความเพียงพอและเหมาะสม รวมถึงการควบคุมภายในด้านการเงิน และกระบวนการอื่นที่พิจารณาว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการทุจริต และได้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ สามารถสนับสนุนให้การปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ และสอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีระบบการควบคุมภายในสำหรับการติดตามควบคุมดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยอย่างเพียงพอ

คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยงผ่านรายงานข้อมูลการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กรที่นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท รวมถึงได้สอบทานประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญในรายงานผลการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบภายใน นอกจากนี้ ในการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบกับคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้มีการหารือเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยงกับแผนงานตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่างานตรวจสอบได้ครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญ และความเสี่ยงที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งผลการตรวจสอบที่สำคัญได้ถูกนำไปพิจารณาประกอบการประเมินความเสี่ยงระดับองค์กรด้วย

3) การพิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกัน หรือรายการที่อาจจะมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์

คณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาความสมเหตุสมผลของรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นสำคัญ

สำหรับการพิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันที่ทำกับบริษัทใหญ่ เช่น เรื่องสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้พิจารณาความสมเหตุสมผลทั้งในด้านความโปร่งใสในการเจรจา ด้านราคา ด้านระยะเวลาของสัญญา ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายฯ ดังกล่าวมีบริษัทผู้ร่วมทุนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกันกับบริษัทใหญ่ร่วมพิจารณาเงื่อนไขของการทำรายการด้วย

นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบยังได้สอบทานการเปิดเผยข้อมูลรายการที่เกี่ยวโยงกันในรายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) และเห็นว่าบริษัทฯ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วน รายการดังกล่าวเป็นรายการที่มีเงื่อนไขและมีราคาที่ยุติธรรม โดยได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากฝ่ายจัดการหรือคณะกรรมการบริษัทก่อนทำรายการแล้ว

4) การสอบทานการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานให้กลุ่ม ปตท.สผ. มีการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ/หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่กลุ่ม ปตท.สผ. ไปลงทุน ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้รับทราบรายงานการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานที่ดูแลด้านการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และผลการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานตรวจสอบภายใน โดยในปี 2566 มีงานตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะ ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้ให้ข้อคิดเห็นให้จัดทำมาตรการป้องกันเพิ่มเติมและติดตามความก้าวหน้าของการจัดทำมาตรการป้องกันต่าง ๆ เพื่อให้มีการนำมาปรับใช้ได้ตามแผนที่กำหนดไว้

5) การกำกับดูแลงานตรวจสอบภายใน

คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาแผนงานตรวจสอบประจำปี แผนงานตรวจสอบระยะยาว ผลการตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าการแก้ไขหรือการปรับปรุงการดำเนินงานตามประเด็นที่ตรวจพบ รวมทั้งสอบทานผลการปฏิบัติงานตามแผนงาน ความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน ดัชนีชี้วัดผลงานของหน่วยงานตรวจสอบภายใน และพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงานของหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน ตลอดจนพิจารณาการทบทวนกฎบัตรของหน่วยงานตรวจสอบภายในเป็นประจำทุกปี

คณะกรรมการตรวจสอบได้เล็งเห็นความสำคัญและสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการตรวจสอบ เพื่อให้งานตรวจสอบสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรในยุคดิจิทัล และเพื่อให้งานตรวจสอบมีความถูกต้องสมบูรณ์ รวดเร็ว สามารถวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น นำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาได้ตรงประเด็นและทันต่อเหตุการณ์ เช่น การใช้ระบบบริหารจัดการงานตรวจสอบแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการวางแผนงานตรวจสอบจนถึงกระบวนการติดตามประเด็นคงค้าง (ระบบ TeamMate+) ระบบแสดงผลข้อมูลเพื่อติดตามประเด็นคงค้าง (Follow Up Dashboard) ให้แก่ผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ได้มีการตรวจสอบในระหว่างปี เพื่อช่วยติดตามประเด็นคงค้างต่าง ๆ ได้อย่างทันเวลา นอกจากนี้ ในปี 2566 หน่วยงานตรวจสอบภายในได้ศึกษาและกำหนดแผนงานของโครงการต่าง ๆ ที่จะสามารถนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการปฏิบัติงานเพิ่มเติม (โครงการ IA BOT) เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานตรวจสอบ (Audit Program) และรายงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ โดยจะเริ่มพัฒนาโครงการตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้ให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารบุคลากรของหน่วยงานตรวจสอบภายใน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เพิ่มอัตรากำลังของผู้ตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น พร้อมเน้นย้ำให้มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ตรวจสอบ รวมทั้งการพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของบุคลากรในหน่วยงานตรวจสอบภายใน เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินกิจกรรมตรวจสอบเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผล นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบยังสนับสนุนบทบาทการเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานตรวจสอบภายใน (Consulting Services) เพื่อเพิ่มคุณค่าในระยะยาวให้กับ ปตท.สผ. และสอดคล้องตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย

6) การพิจารณาเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของ ปตท.สผ. ประจำปี 2567 และการประชุมร่วมกับผู้สอบบัญชี

ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ขอความร่วมมือให้ ปตท.สผ. จัดหาบุคคลภายนอกเป็นผู้สอบบัญชีซึ่งเป็นไปตามความในมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้ สตง. หรือผู้สอบบัญชีที่ สตง. เห็นชอบตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบในการนำเสนอเรื่องการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีจากบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ได้แก่ นางสาวอมรรัตน์ เพิ่มพูนวัฒนาสุข ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เลขที่ 4599 หรือนายบุญเรือง เลิศวิเศษวิทย์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เลขที่ 6552 หรือนายกรรณ ตัณฑวิรัตน์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เลขที่ 10456 เป็นผู้สอบบัญชีของ ปตท.สผ. ประจำปี 2567 โดยเห็นว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทชั้นนำที่มีผลงานเป็นที่น่าเชื่อถือ มีความเป็นอิสระ มีประสบการณ์ในการตรวจสอบ และค่าสอบบัญชีอยู่ในอัตราที่เหมาะสม โดยให้เสนอต่อคณะกรรมการบริษัท สตง. และที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้ร่วมประชุมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมเพื่อรับทราบแผนงานการตรวจสอบ และการให้ข้อสังเกตต่าง ๆ ของผู้สอบบัญชีอย่างเป็นอิสระ รวมทั้งรับทราบเรื่องสำคัญในการตรวจสอบ (Key Audit Matters) ในรายงานผู้สอบบัญชีด้วย

คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของผู้สอบบัญชีสำหรับการจัดจ้างบริษัทที่ผู้สอบบัญชีสังกัดและบริษัทในกลุ่มเพื่อให้บริการงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอบบัญชี (Non-audit Services) อีกทั้งมีความเห็นให้มีการเปิดเผยข้อมูล Non-audit Fee ในรายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบข้อมูลที่อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชีด้วย

7) การสอบทานการกำกับดูแลกิจการที่ดี และด้านการป้องกันการเกิดทุจริต

คณะกรรมการตรวจสอบได้มุ่งเน้นปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานและระบบการควบคุมภายในของ ปตท.สผ. เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในที่ครอบคลุมถึงการป้องกันการเกิดทุจริตคอร์รัปชัน อาทิ การส่งเสริมให้บริษัทฯ ดำเนินการจัดหาโดยวิธีการประมูล โดยผลักดันให้มีการวิเคราะห์รายงานการจัดหาที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผนการจัดหาประจำปีล่วงหน้า ส่งผลให้สัดส่วนการจัดหาโดยวิธีการประมูลสูงกว่าการจัดหาโดยวิธีการตกลงราคาต่อเนื่องมาทุกปี รวมถึงสนับสนุนกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริต (Whistleblowing) นอกจากนี้ ในปี 2566 คณะกรรมการตรวจสอบได้ทำหน้าที่สอบทานแบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันตามโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย เพื่อยื่นต่ออายุการเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย ซึ่งครบกำหนดอายุในวันที่ 30 มีนาคม 2567

โดยสรุป ในปี 2566 คณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบครบถ้วน และได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อทราบเป็นประจำ โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้ให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำต่าง ๆ ซึ่งช่วยส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทำให้บริษัทฯ มีมาตรฐานการดำเนินงานที่เทียบเคียงได้กับบริษัทชั้นนำในธุรกิจเดียวกัน

นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน 2566 ตามที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหนังสือเวียนเรื่อง “การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารความคาดหวังเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบในฐานะตัวแทนของผู้ถือหุ้น และแนวทางปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อป้องกันและป้องปรามพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียน เพื่อติดตามและดูแลให้บริษัทจดทะเบียนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นสำคัญ ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น คณะกรรมการตรวจสอบได้ทบทวนบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบและมีการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติหน้าที่ได้ครอบคลุมแนวปฏิบัติดังกล่าว

คณะกรรมการตรวจสอบมีความมั่นใจในศักยภาพของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีคุณสมบัติ ทักษะ และประสบการณ์ที่หลากหลาย ทำให้สามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบให้ครอบคลุมในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นโดยรวมว่า รายงานข้อมูลทางการเงินของบริษัทฯ มีความถูกต้อง สอดคล้องตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปและเป็นมาตรฐานสากล บริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย ข้อผูกพันที่เกี่ยวข้องครบถ้วน มีการบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริต การควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน และระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพียงพอ และเหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ ผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยคณะกรรมการบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลการประเมินตนเอง สรุปได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบอยู่ในเกณฑ์ดีมาก

นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม
(นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม)
ประธานกรรมการตรวจสอบ