ระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน (แก้ไขครั้งที่ 9)

สารบัญ

  1. เจตนารมณ์
  2. นิยาม
  3. การแต่งตั้ง
  4. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
  5. หน้าที่และความรับผิดชอบ
  6. วาระและค่าตอบแทน
  7. การประชุม
  8. การรายงาน
  9. วันที่ใช้บังคับ

ข้อ 1. เจตนารมณ์

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible) และมีความพร้อมที่จะรับมือต่อความท้าทายต่าง ๆ (Resilient) ไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งมั่นในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 โดยขับเคลื่อนผ่านกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน (Sustainability Framework) ซึ่งประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การพัฒนาสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization - HPO) การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance - GRC) รวมถึงการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation - SVC) จึงแต่งตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับ และส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

ข้อ 2. นิยาม

ในระเบียบนี้
“บริษัท” หมายความว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยของ ปตท.สผ.
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการ ปตท.สผ.

ข้อ 3. การแต่งตั้ง

คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน (Corporate Governance and Sustainability Committee) ประกอบด้วย กรรมการ ปตท.สผ. อย่างน้อยสามคนเป็นคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน และกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนส่วนใหญ่ต้องเป็นกรรมการอิสระ

คณะกรรมการจะแต่งตั้งกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน และให้หัวหน้าหน่วยงานเกี่ยวกับเลขานุการบริษัทเป็นเลขานุการคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน

ข้อ 4. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม

กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

  1. เป็นกรรมการ ปตท.สผ. และไม่ใช่ประธานกรรมการ ปตท.สผ. หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  2. สามารถอุทิศเวลาอย่างเพียงพอในการดำเนินงานของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน
  3. กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนที่เป็นกรรมการอิสระ ต้องมีความเป็นอิสระตามการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท.สผ.

ข้อ 5. หน้าที่และความรับผิดชอบ

คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้

  1. กำหนดเป้าหมาย นโยบาย และแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัท โดยครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization - HPO) การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance - GRC) และการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation - SVC) และพิจารณางบประมาณด้านความอย่างยั่งยืน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ
  2. ให้คำแนะนำและส่งเสริมให้การดำเนินงานของบริษัทสอดคล้องกับเจตนารมณ์และกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และทัดเทียมกับบริษัทชั้นนำ ตลอดจนสนับสนุนให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ปฏิบัติตนตามแนวทางเพื่อความยั่งยืนของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ประเมินและทบทวนเป้าหมาย นโยบาย และแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้เหมาะสมกับสภาวะการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับกฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากล และข้อเสนอแนะของสถาบันต่าง ๆ ตลอดจนพิจารณาข้อเสนอที่เกี่ยวข้องของผู้ถือหุ้นและ การตอบกลับผู้ถือหุ้น
  4. ดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการด้านความยั่งยืน ให้มีความสมดุลและมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการต่อคณะกรรมการเพื่อทราบเป็นระยะ
  5. กำหนดนโยบายด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ และนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ พร้อมทั้งให้คำแนะนำและส่งเสริมให้มีการปฏิบัติในทุกระดับ และทบทวนให้นโยบายดังกล่าวมีความเหมาะสม สอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากลเป็นประจำทุกปี ตลอดจนดูแลให้มีการประเมินผลและรายงานการปฏิบัติตามนโยบายด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ
  6. ดูแลการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้เสียในรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืนประจำปีของบริษัท
  7. พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับระเบียบนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมและทันสมัยอยู่เสมอ
  8. เปิดเผยรายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท
  9. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้ คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนอาจหาความเห็นจากที่ปรึกษาอิสระทางวิชาชีพอื่นหรือแต่งตั้งคณะทำงาน เมื่อเห็นว่ามีความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งให้กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนได้รับการอบรมและเสริมสร้างความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนได้ด้วย โดย ปตท.สผ. เป็นผู้รับค่าใช้จ่าย

คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ต่อคณะกรรมการโดยตรง และคณะกรรมการมีความรับผิดชอบในการดำเนินการทุกประการของบริษัทต่อบุคคลภายนอก

ข้อ 6. วาระและค่าตอบแทน

กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนมีวาระอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริษัท

เมื่อมีกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนพ้นจากตำแหน่ง หรือมีเหตุใดที่กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนไม่สามารถอยู่ได้จนครบวาระ คณะกรรมการจะต้องแต่งตั้งกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนรายใหม่แทน ให้ครบถ้วนอย่างช้าภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่จำนวนสมาชิกไม่ครบถ้วน

เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนขึ้นใหม่ ให้กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่ง เพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4

คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และ ปตท.สผ. ต้องเปิดเผยค่าตอบแทนไว้ในรายงานประจำปีของ ปตท.สผ. ด้วย

ข้อ 7. การประชุม

คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนต้องประชุมอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง

การประชุมคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน ต้องมีกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนที่มาประชุมเลือกกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ทั้งนี้ เลขานุการคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด หรือมีส่วนได้เสียใด ๆ ในเรื่องที่พิจารณา จะต้องแจ้งให้ที่ประชุมทราบและงดให้ความเห็น งดออกเสียง และออกจากห้องประชุม ยกเว้นที่ประชุมโดยไม่รวมกรรมการที่มีส่วนได้เสีย มีมติเอกฉันท์ให้กรรมการ ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลในการประชุมเพื่อความรอบคอบในการพิจารณาตัดสินใจ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือตัดสินใจในเรื่องนั้น ๆ

คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนมีอำนาจเชิญฝ่ายจัดการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุม หรือขอให้ชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้

ข้อ 8. การรายงาน

คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนต้องรายงานผลการประชุม หรือรายงานอื่นใดที่เห็นว่าคณะกรรมการควรทราบต่อคณะกรรมการเป็นประจำ

ข้อ 9. วันที่ใช้บังคับ

ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2566

รายงานของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน ประจำปี 2566

ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยคำนึงถึงเป้าหมายของประเทศไทยและทิศทางของโลกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมทั้งยึดมั่นในการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ โดยคณะกรรมการ ปตท.สผ. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย กรรมการ ปตท.สผ. อย่างน้อย 3 คน และส่วนใหญ่ต้องเป็นกรรมการอิสระ ทำหน้าที่กำกับดูแลบรรษัทภิบาลและส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของกลุ่ม ปตท.สผ.

ในปี 2566 คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนประชุม 3 ครั้ง ได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายจัดการเพื่อนำไปปรับปรุงการปฏิบัติงานและการกำกับดูแลกิจการ โดยสรุปสาระสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ในปี 2566 ได้ดังนี้

  1. พิจารณาปรับปรุงระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน โดยปรับปรุงชื่อคณะกรรมการฯ เป็นคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน รวมถึงเพิ่มหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการฯ ให้ครอบคลุมการพิจารณางบประมาณด้านความยั่งยืน และเน้นย้ำเจตนารมณ์ที่ต้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593
  2. พิจารณาปรับปรุงระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนและการให้ความคุ้มครองของกลุ่ม ปตท.สผ. ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานภายในบริษัทฯ และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน
  3. พิจารณาทบทวนความเหมาะสมของการนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 (CG Code) มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อสร้างคุณค่าให้เกิดความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจ และรายงานการปฏิบัติตาม CG Code ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และหลักเกณฑ์ของสากล เพื่อเผยแพร่ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย (Stakeholders) ในรายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report)
  4. ส่งเสริมให้การดำเนินกิจการของกลุ่ม ปตท.สผ. และการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ (CG&BE) ของกลุ่ม ปตท.สผ. ในทุกพื้นที่ปฏิบัติการผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ CG&BE และสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้ นอกจากนี้ยังได้สื่อสารและเชิญชวนให้คู่ค้าเข้าร่วมอบรมออนไลน์เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน เน้นย้ำให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์และประเมินตนเองเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง การประชาสัมพันธ์นโยบายการงดรับของขวัญ (No Gift Policy) การเชิญชวนพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชัน กิจกรรม PTT Group CG Day 2023 รวมถึงเข้าร่วมการประเมินในโครงการที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลต่าง ๆ เพื่อพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท.สผ. นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้พนักงานนำหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (GRC) ไปปรับใช้เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งอีกด้วย
  5. พิจารณาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization Pathway and Offsetting Strategy) เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ จะตอบสนองต่อเป้าหมาย EP Net Zero 2050 ที่ได้ประกาศไว้
  6. ติดตามและให้คำแนะนำในการดำเนินงานตามแผนงานด้านความยั่งยืน โดยแบ่งการดำเนินงานได้ ดังนี้
    1. 6.1
      การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (EP Net Zero 2050) และการจัดการบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งการเก็บข้อมูลและการรายงาน (GHG Emissions Accounting & Reporting) เพื่อให้การรายงานเป็นไปอย่างถูกต้อง ได้มาตรฐาน และทันท่วงที นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้จัดทำราคาคาร์บอนภายในของบริษัทฯ (Internal Carbon Price) มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในอนาคต (GHG Criteria for Investment Decision Guideline) และติดตามผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย นอกจากนี้ได้พิจารณาแนวทางการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการจัดหาคาร์บอนเครดิตทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยง โดยให้ศึกษาวิธีการและผลการดำเนินงานเทียบเคียงกับบริษัทชั้นนำอื่น ๆ เช่น การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อจัดหาคาร์บอนเครดิตจากการเกษตรและกสิกรรม และศึกษากฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบกับบริษัทฯ เช่น มาตรการทางภาษีในต่างประเทศ การเปรียบเทียบมาตรฐานการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ จะสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions)ภายในปี 2593 ได้ตามที่กำหนดไว้
    2. 6.2
      โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage Progress) ซึ่ง ปตท.สผ. ได้เริ่มดำเนินการศึกษาและออกแบบด้านวิศวกรรม (Front End Engineering Design หรือ FEED) ใน 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการผลิตก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ และโครงการพัฒนาก๊าซธรรมชาติ ลัง เลอบาห์ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม และเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ สอดคล้องกับแผนพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนต่อหน่วย และการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจด้วย
    3. 6.3
      ติดตามผลการดำเนินงานโครงการเพื่อสังคมปี 2565 และแผนการดำเนินงานปี 2566 โดยส่งเสริมให้ดำเนินโครงการเพื่อสังคมที่เชื่อมโยงกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ โดยให้คำนึงถึงการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ ผ่านการประเมินผลการดำเนินงานและผลตอบแทนทางสังคมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริงและยั่งยืน
    4. 6.4
      สร้างการรับรู้ต่อสาธารณะเกี่ยวกับดำเนินงานด้านความยั่งยืน ส่งเสริมให้มีกลยุทธ์การสื่อสารที่ชัดเจนและมีประสิทธิผล โดยหาแนวทางใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างการรับรู้ของสังคมในวงกว้างและจดจำองค์กรได้ จากผลการดำเนินด้านความยั่งยืนต่าง ๆ เช่น โครงการปลูกป่า และกลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life)
    5. 6.5
      ติดตามผลการประเมินด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) เช่น MSCI, CDP, Sustainalytics, FTSE4Good, Moody’s ESG และดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ประจำปี 2565 และแนวทางการปรับปรุงการดำเนินงานด้าน ESG โดยรวม โดยให้ศึกษาเกณฑ์การประเมินด้านความยั่งยืนของสถาบันที่น่าเชื่อถือต่าง ๆ รวมถึงศึกษาความสนใจของนักลงทุนที่มีต่อการดำเนินงานด้าน ESG เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้สอดคล้องต่อความต้องการของนักลงทุนในอนาคต
  7. ส่งเสริมให้จัดกิจกรรมเยี่ยมชมกิจการสำหรับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจในธุรกิจและความมั่นใจในการลงทุนกับ ปตท.สผ. รวมถึงสร้างสัมพันธภาพที่ดีระยะยาวระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทฯ

คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนได้รายงานผลการประชุมต่อคณะกรรมการ ปตท.สผ. ทราบ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในรอบปี 2566 คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนได้ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความรอบคอบ เต็มความสามารถ และเป็นอิสระ ในการให้ความเห็นเพื่อยกระดับและพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อประโยชน์สูงสุดของ ปตท.สผ. ผู้ถือหุ้นทุกราย และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ อย่างเหมาะสม

วิรไท สันติประภพ
(นายวิรไท สันติประภพ)
กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)
กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน