กรมประมงผนึกกำลัง ปตท.สผ. ร่วมศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหินแร่ในปะการังเทียม เพื่อสร้างสมดุลทรัพยากรประมง และช่วยลดสภาวะโลกร้อน

12 กันยายน 2566
ดาวน์โหลด PDF

กรุงเทพฯ 12 กันยายน 2566 – กรมประมง โดยนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในโครงการศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหินแร่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปะการังเทียม และนำไปใช้เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเล พิธีลงนามจัดขึ้น ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์

การศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหินแร่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปะการังเทียม และนำไปใช้เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเลครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อการประมง ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ รวมถึง เพื่อส่งเสริมการพัฒนา องค์ความรู้ของประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งช่วยลดปัญหาสภาวะโลกร้อนไปพร้อมกัน

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยในส่วนของการฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเล ได้ดำเนินโครงการจัดสร้างปะการังเทียมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัว วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเล รวมทั้งเป็นการพัฒนาแหล่งทำการประมงพื้นบ้าน ทำให้ชาวประมงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปัจจุบันกรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทรัพยากรประมงมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการประมงเป็นหนึ่งภารกิจที่กรมประมงมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหา โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าสภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รัฐบาลไทยได้กำหนดให้เป็นนโยบายสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ ในส่วนของภาคการประมงได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนเช่นกัน โดยจากงานวิจัยต่าง ๆ ได้รายงานว่า สภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น เพิ่มความเครียดต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมในปลาทำให้ยากต่อการสืบพันธุ์ และเจริญเติบโต การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จึงถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการยกระดับเทคโนโลยีมาช่วยฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเลของไทยให้มีความยั่งยืนในอนาคต

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. ได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หนึ่งในแนวทางที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญคือการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย ปตท.สผ. ได้พัฒนาเทคโนโลยีในการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตในชั้นปูน เพื่อนำมาประยุกต์และจัดสร้างเป็นปะการังเทียม ที่มีความแข็งแรงและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังช่วยในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล เพิ่มพื้นที่แหล่งปะการังซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลอีกด้วย

นอกจากความร่วมมือในโครงการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหินแร่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปะการังเทียมครั้งนี้แล้ว ปตท.สผ. ยังพัฒนาโครงการและกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย โดยเฉพาะเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเริ่มที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ในอ่าวไทย โดยจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก

การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีนำไปใช้งานได้อย่างเหมาะสมและเกิดความยั่งยืนต่อทรัพยากรประมงแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ในวัสดุอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

หากสื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกบริหารงานสื่อมวลชน

The information, statements, forecasts and projections contained herein reflect the Company’s current views with respect to future events and financial performance. These views are based on assumptions subject to various risks. No assurance is given that these future events will occur, or that the Company’s future assumptions are correct. Actual results may differ materially from those projected.