ปตท.สผ. เผยผลการดำเนินงานปี 2557 พร้อมแผนงานรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันปี 2558

29 มกราคม 2558
ดาวน์โหลด PDF
  • ตั้งเป้ายอดขายปิโตรเลียมปี 2558 โตกว่าปีที่ผ่านมา 6% ที่ระดับ 343,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานในประเทศ• กำไรสุทธิหลังหักขาดทุนด้อยค่าสินทรัพย์ทางบัญชี 677 ล้านดอลลาร์ สรอ.
  • จ่ายเงินปันผลสำหรับงวดครึ่งปีหลังของ 2557 ที่อัตรา 1.5 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินปันผลทั้งปี 4.5 บาทต่อหุ้น
  • ใช้แนวทาง ลด ละ เลื่อน เพื่อลดต้นทุนการผลิต รักษาความแข็งแกร่งทางธุรกิจ
  • สถานะการเงินแข็งแกร่ง สภาพคล่องสูง เงินสดในมือ 4,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. พร้อมรับมือกับภาวะน้ำมันตกต่ำ

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่าปี 2557 เป็นปีที่มีความท้าทายอย่างสูงสำหรับบริษัทน้ำมันทั่วโลก เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ โดยส่งผลกระทบกับผลประกอบการและแผนการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ปี 2557
ในปี 2557 ปตท.สผ. มีปริมาณการขายปิโตรเลียมเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 10 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 321,886 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 ที่มีปริมาณการขายปิโตรเลียมที่ 292,629 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากการเริ่มการผลิตของโครงการซอติก้า การผลิตเต็มปีของ โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย รวมถึงการเข้าซื้อโครงการในกิจการบริษัท Hess Thailand ในปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.38 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งปรับตัวลดลงจากปีที่แล้วที่ 65.58 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือลดลงประมาณร้อยละ 3 ซึ่งสะท้อนราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงในไตรมาสสี่ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทยังคงเป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคาขายจะอ้างอิงกับราคาน้ำมันเพียงบางส่วน และมีการปรับราคาตามรอบระยะเวลาในสัญญา ทำให้ราคาก๊าซไม่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ผันผวนโดยทันที ในปี 2557 บริษัทยังได้รับรู้กำไรจากการทำอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันจำนวน 197 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 8,017 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 ที่ 7,445 ล้านดอลลาร์ สรอ.

สำหรับค่าใช้จ่ายในปี 2557 ของ ปตท.สผ. นั้น เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการผลิตเต็มปีของโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย การเริ่มตัดค่าเสื่อมราคาของโครงการซอติก้าที่เริ่มผลิต และจำนวนสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการบริษัท Hess Thailand รวมถึงค่าใช้จ่ายในการสำรวจที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตัดจำหน่ายหลุม นอกจากนี้จากการปรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในอนาคต ทำให้ในปีนี้บริษัทต้องทำการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ซึ่งเป็นไปตามมาตราฐานบัญชีสากล สำหรับโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย และโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ จำนวนทั้งสิ้น 997 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งการรับรู้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นรายการทางบัญชีเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดแต่อย่างใด ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในปี 2557 มีจำนวน 6,248 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้น ร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่จำนวน 4,088 ล้านดอลลาร์ สรอ.

จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้ในปี 2557 ปตท.สผ. มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ (Recurring Net Profit) ที่ 1,538 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเมื่อรวมรายการ Non-recurring เช่น ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ทำให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 677 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 63 จากปี 2556 ที่ 1,847 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่ถึงแม้จะมีผลกำไรลดลง ปตท.สผ. ยังคงจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดครึ่งปีหลังของ 2557 ที่อัตรา 1.5 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทได้จ่ายเงินปันผลสำหรับงวดครึ่งปีแรกไปแล้วที่อัตรา 3 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินปันผลทั้งปี 2557 ในอัตรา 4.5 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 โดยมีวัน XD เป็นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 9 เมษายน 2558 หลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2558

“ในปี 2557 บริษัทได้ปรับแผนกลยุทธ์การลงทุนในแหล่งออย แซนด์ ประเทศแคนาดา โดยได้ตัดสินใจ Swap Asset เมื่อตอนกลางปี 2557 ซึ่งช่วยบริษัทให้สามารถลดผลกระทบจากการขาดทุนของโครงการดังกล่าว อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำได้ นอกจากนี้ในส่วนของการบริหารการเงินและสภาพคล่อง บริษัทได้เตรียมความพร้อมโดยได้ดำเนินการออก Hybrid Bonds และหุ้นกู้สกุลเงินบาท ตั้งแต่กลางปี 2557 ซึ่งทำให้ขณะนี้บริษัทมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมีสภาพคล่องสูง พร้อมที่จะรองรับแผนการลงทุน และโอกาสทางธุรกิจที่ดี ในสภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำได้ โดย ณ สิ้นปี 2557 เรามีเงินสดในมือ ประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. นอกจากนี้ เรายังคงมีความได้เปรียบในเรื่องของความยืดหยุ่นในการวางแผนการลงทุน และการดำเนินงาน ซึ่งหลังจากการก่อสร้างโครงการซอติก้าได้แล้วเสร็จ และได้เริ่มการผลิตในปีที่ผ่านมา และโครงการแอล จีเรีย 433เอ & 416บี ที่ใกล้จะแล้วเสร็จ และจะเริ่มผลิตได้ในปีนี้ บริษัทยังไม่ได้มีข้อผูกพันที่จะต้องลงเงินในโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เงินลงทุนเพื่อการพัฒนาสูง ซึ่งเรายังไม่มีความจำเป็นต้องรีบตัดสินใจลงทุนในโครงการดังกล่าวในวันนี้ อาทิเช่นการลงทุนในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์, และแหล่ง Cash Maple โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย เรายังมีเวลาที่จะดูความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันและจังหวะที่เหมาะสมก่อนตัดสินใจเดินหน้าในการลงทุน” นายเทวินทร์กล่าว

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ ปตท.สผ. ได้ริเริ่มโครงการ “SAVE…to be SAFE” ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

“ปตท.สผ. ใช้แนวทาง ลด ละ เลื่อน ในการปรับแผนกลยุทธ์ของบริษัท ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ละในกิจกรรมที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องทำในขณะนี้ และเลื่อนการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงออกไปก่อน โดยได้จัดอันดับความสำคัญของการใช้เงินลงทุน เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์น้ำมันที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ปตท.สผ.ถือเป็นภารกิจสำคัญ ก็คือ การรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความต้องการใช้ปิโตรเลียมของประเทศ” นายเทวินทร์กล่าวเสริม

แนวโน้มและแผนการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ในปี 2558
ปตท.สผ. คาดว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 จากปี 2557 โดยคาดว่าอยู่ที่ระดับประมาณ 343,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว โดยส่วนใหญ่จะมาจากการผลิตเต็มปีของโครงการซอติก้า และจากโครงการผลิตปิโตรเลียมของบริษัท Hess Thailand ที่ ปตท.สผ. ได้เข้าซื้อกิจการในปีผ่านมา รวมถึงการผลิตน้ำมันดิบจากโครงการแอลจีเรีย 433เอ & 416บี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในครึ่งหลังของปี 2558 ส่วนประมาณการรายจ่ายรวม ในปี 2558 คาดว่าจะอยู่ที่ 4,832 ล้านดอลล่าร์ สรอ. ซึ่งจะใช้สำหรับกิจกรรมการสำรวจ พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมที่มีความจำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาคใกล้เคียง

ปตท.สผ. คาดว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปี 2558 ยังคงมีความผันผวนอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก แต่อาจมีปัจจัยบวกจากอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะเติบโตช้าลงในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งปตท.สผ.ได้เตรียมแผนเพื่อรองรับสภาวการณ์ดังกล่าว โดยส่วนของน้ำมันและคอนเดนเสทบริษัทยังคงนโยบายในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน ด้วยการทำอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ซึ่งใช้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เป็นราคาอ้างอิง นอกจากนั้นบริษัทยังคงดำเนินการลดค่าใช้จ่ายตามโครงการ SAVE…to be SAFE ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 อย่างต่อเนื่อง โดยการปรับลดดังกล่าวต้องไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องถือปฎิบัติตามนโยบายของบริษัทอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ปตท.สผ. จะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะทำการทบทวนแผนลงทุนในโครงการต่าง ๆ โดยทันที สำหรับโอกาสในการเข้าซื้อกิจการเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคตนั้น ในสถานะการณ์เช่นนี้อาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบริษัทโดยยังคงมุ่งเน้นความสนใจลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เรามีความพร้อมที่จะรับมือกับสภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ทั้งในส่วนของสถานะการเงินของบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง มีสภาพคล่องสูง รวมทั้งเรามีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานและการลงทุนตามสภาวะน้ำมันในราคาต่างๆ โดยเป้าหมายของเราคือพยายามที่ลดผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันผันผวน แต่ยังคงรักษาเสถียรภาพการเติบโตได้ในระยะยาว” นายเทวินทร์ กล่าวในตอนท้าย

ปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้ว ณ 31 ธันวาคม 2557
ปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้ว ของ ปตท.สผ. และบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 รวมทั้งหมด 777 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นสัดส่วนของน้ำมันดิบและคอนเดนเสทประมาณร้อยละ 24.และก๊าซธรรมชาติประมาณร้อยละ 76

หากสื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกบริหารงานสื่อมวลชน

The information, statements, forecasts and projections contained herein reflect the Company’s current views with respect to future events and financial performance. These views are based on assumptions subject to various risks. No assurance is given that these future events will occur, or that the Company’s future assumptions are correct. Actual results may differ materially from those projected.