ปตท.สผ. ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ปี 2558 ที่อัตรา 1 บาทต่อหุ้น

23 กรกฎาคม 2558
ดาวน์โหลด PDF
  • ผลการดำเนินงานก่อนสอบทานครึ่งปีแรก กำไรสุทธิ 299 ล้านดอลลาร์ สรอ.
  • ปริมาณการขายเฉลี่ยรอบ 6 เดือน 326,335 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
  • สถานะทางการเงินแข็งแกร่ง สภาพคล่องสูง เงินสดในมือกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.


นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานรวมของกลุ่มบริษัทฯ งวด 6 เดือนแรกปี 2558 ในอัตราหุ้นละ 1 บาท จำนวน 299 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลจากการพิจารณาผลประกอบการ และสถานะทางการเงินที่ยังแข็งแกร่ง โดยมีเงินสดในมือกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทั้งนี้การพิจารณาจ่ายเงินปันผลสอดคล้องกับนโยบายในการให้ผลตอบแทนที่มั่นคงกับผู้ถือหุ้น โดยบริษัทฯ กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผลในวันที่ 7 สิงหาคม 2558 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 สิงหาคม 2558

สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือน ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิก่อนสอบทาน 299 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 9,928 ล้านบาท) ลดลง 641 ล้านดอลลาร์ สรอ. จาก 940 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 30,621 ล้านบาท) ของช่วงเดียวกันในปี 2557 สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายที่ลดลงจากราคาขายเฉลี่ยลดลง โดยอยู่ที่ 48.61 ดอลลาร์ สรอ. เทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับ 66.35 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ของงวด 6 เดือนปีที่แล้ว แม้ว่าปริมาณการขายเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นจาก 307,263 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน มาอยู่ที่ 326,335 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2558 บริษัทฯ ยังคงได้รับผลกระทบจากสภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผันผวน อีกทั้งยังประสบกับภาวะค่าเงินบาทอ่อนตัว ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้กำไรสุทธิลดลง โดยมีกำไรสุทธิก่อนสอบทาน 35 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 1,312 ล้านบาท) ลดลง 229 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 87 จากไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 264 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 8,616 ล้านบาท)   อย่างไรก็ดี ผลกระทบส่วนใหญ่เกิดจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานหลัก (Non-Recurring) ประกอบด้วยผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการบันทึกค่าใช้จ่ายทางภาษีรอการตัดบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลง (Deferred Tax on Functional Currency) เป็นจำนวน 73 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจาก ปตท.สผ. ใช้สกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ในการจัดทำบัญชี ในขณะที่บริษัทต้องใช้สกุลเงินบาทในการยื่นภาษี ซึ่งรายการดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทแต่อย่างใด นอกจากนี้ บริษัทได้รับรู้ขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Hedging) จำนวน 56 ล้านดอลลาร์ สรอ. ประกอบด้วยการรับรู้ขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงของสัญญาฯที่ครบกำหนดในไตรมาส 2 จำนวน 19 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการรับรู้ขาดทุนจากการตีราคาตามราคาตลาด (Mark-to-Market) สำหรับสัญญาฯที่ยังไม่ครบกำหนด อีก 37 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการรับรู้ตามหลักการทางบัญชีเท่านั้น โดยการรับรู้มูลค่าจริงของสัญญาฯ ที่เหลืออยู่จะเกิดขึ้นตามราคาน้ำมัน ณ วันที่สัญญาดังกล่าวครบกำหนดในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2558

สำหรับรายได้รวมในไตรมาส 2 ปี 2558 อยู่ที่ 1,486 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 49,446 ล้านบาท) ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 1,497 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 48,870 ล้านบาท) ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จากปริมาณการขายที่ทรงตัวและราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงเล็กน้อย สำหรับค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการตัดจำหน่ายหลุมสำรวจอีกประมาณ 27 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดทุนจากรายการ Non-Recurring ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

แม้ว่าผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ในครึ่งปีแรกโดยรวมจะปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก เรายังคงมั่นใจในทิศทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยในปีนี้จะโตประมาณ 3% และเมื่อพิจารณาสถานะทางการเงินและเงินสดในมือ เราเชื่อว่าเราสามารถรักษานโยบายการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ และยังดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถรักษาความต่อเนื่องด้านการจัดหาปิโตรเลียมรองรับการใช้ภายในประเทศ รวมถึงสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว” นายเทวินทร์ กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความก้าวหน้าในโครงการที่สำคัญของ ปตท.สผ. สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2558

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีโครงการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย และต่างประเทศ รวม 40 โครงการ ใน 11 ประเทศ โดยความก้าวหน้าของโครงการหลัก ๆ สามารถสรุปได้ ดังนี้

โครงการในประเทศไทย ยังสามารถรักษาระดับการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 และโครงการคอนแทร็ค 4

โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น โครงการซอติก้า ในเดือนเมษายน 2558 ได้มีการปิดซ่อมบำรุงประจำปีตามแผน โครงการเวียดนาม16-1 อยู่ระหว่างการก่อสร้างแท่นหลุมผลิตเพื่อรองรับการผลิตจากบริเวณโครงสร้าง H5 เพื่อรักษาระดับการผลิต โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตจากโครงสร้างดังกล่าวภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ โครงการเมียนมาร์ พีเอสซี จี และอีพี 2   อยู่ระหว่างการเริ่มเจาะหลุมสำรวจหลุมที่ 4 จากแผนการเจาะหลุมสำรวจทั้งสิ้น 4 หลุม ผลการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรกไม่พบศักยภาพเชิงพาณิชย์ จึงตัดจำหน่าย (Write-off) หลุมดังกล่าวในไตรมาสที่ 2

โครงการในออสตราเลเชีย แหล่งมอนทารา ปริมาณการผลิตโดยเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 2 ปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 16,448 บาร์เรลต่อวัน ส่วนแหล่งแคชเมเปิ้ลอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ศักยภาพเชิงพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางสำหรับการพัฒนาแหล่ง

โครงการในทวีปอเมริกา ได้แก่ โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ อยู่ระหว่างเตรียมงานเกี่ยวกับการออกแบบทางวิศวกรรมเบื้องต้น (FEED) ส่วนโครงการบารารินเนียส์ เอพี 1 ในบราซิล   กำลังเตรียมการเพื่อสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ สำหรับโครงการบราซิล บีเอ็ม อีเอส 23 คาดว่าจะเริ่มการเจาะหลุมสำรวจ Pacoca ได้ในไตรมาส 4 นี้

โครงการในแอฟริกาและตะวันออกกลาง เช่น โครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บี อยู่ระหว่างการก่อสร้างกระบวนการผลิตและระบบท่อขนส่ง คาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้ภายในปี 2558 ด้วยอัตราการผลิตประมาณ 20,000 บาร์เรลต่อวัน โครงการโมซัมบิก โรวูม่า ออฟชอร์ แอเรีย วัน ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมประเมินผล Golfinho-Atum G03, Golfinho-Atum G04 , Golfinho-Atum G05 และ Golfinho-Atum G06 สำหรับการพัฒนาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางโครงการได้คัดเลือกกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาที่จะรับงานก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบก (Onshore LNG Engineering Procurement and Construction Contract) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ โครงการคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตและขาย LNG ครั้งแรกได้ในปี 2562

หากสื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกบริหารงานสื่อมวลชน

The information, statements, forecasts and projections contained herein reflect the Company’s current views with respect to future events and financial performance. These views are based on assumptions subject to various risks. No assurance is given that these future events will occur, or that the Company’s future assumptions are correct. Actual results may differ materially from those projected.